Article about Dating and Mating in Thai Society: The Problem Singles and Government is Facing.
Thai People tend to be singles more and more. They are looking for the right one that will have to make their life happy and happier. If not, they would prefer to stay single until the rest of their life.
แม่สื่อเอาบทความเรื่องความโสดของคนโสดในประเทศไทยมาฝากค่ะ
แม่สื่ออยากจะให้คนโสดชายหญิงหาคู่ชั่งใจให้ดีๆว่า อะไรที่เป็นสิ่งจำเป็นในตัวคู่ครองของเรา ที่เขาจะต้องมี
ไม่เช่นนั้น ใครก็อยากมีบ้านสวยๆ หลังใหญ่ๆ บริเวณกว้างขวาง แวดล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่ดีกันทั้งนั้น ไม่ว่าตนเองจะมีรายได้เท่าไหร่ก็ตาม
——————————-
เมื่อ “ความโสด” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ! หากไม่เตรียมพร้อมให้ดี พังทั้ง “คน” และ “รัฐ”
หมายเหตุบทความจากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2560
โดย พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์
คนไทยมีแนวโน้มเป็นโสดเพิ่มขึ้นทั้งชายและหญิง!! นี่คือเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ หากดูตัวเลขจากสำมะโนประชากร พ.ศ.2513 เรื่อยมาถึง พ.ศ.2553
ถ้าเราแยกดูเป็นประชากรชายและหญิง เฉพาะผู้หญิงโสดที่อายุ 45 ปีขึ้นไป (ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่แต่งงานแล้ว) ผลสำรวจบอกชัดว่ากลุ่มนี้เมื่อปี พ.ศ.2513 มีตัวเลขอยู่ที่ 4.6% หรือกล่าวได้ว่าในรุ่นนี้เกือบทั้งหมดมีการแต่งงานและยังให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว
หลังจากนั้นมา สัดส่วนคนที่อยู่เป็นโสดกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2553 หญิงโสด+ไม่แต่งงานในวัยดังกล่าว ขยับมาอยู่ที่เกือบ 9% หรือเพิ่มขึ้นมาหนึ่งเท่าตัว
ส่วนเพศชาย ก็อยู่เป็นโสดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ จากปี 2513 มีผู้ชายวัย 45 ปีขึ้นไป 8% ที่ยังไม่แต่งงาน แต่ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของผู้ชายอายุ 35-39 ปี เลือกที่จะไม่มีครอบครัว
แม้ข้อเท็จจริงเช่นนี้อาจนำไปสู่ข้อสรุปแบบฟันธงไม่ได้ว่าชายเหล่านั้นจะไม่แต่งงาน แต่ก็มีแนวโน้มว่าการแต่งงานจะถูกยืดออกไป จนถึงไม่แต่ง
ผศ.ดร.วิราภรณ์ โพธิศิริ อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจและลงพื้นที่สอบถามความเห็น ทั้งในแง่เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ผ่านการพูดคุยสนทนาเชิงลึก
ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเราถามว่าทำไมถึงไม่แต่งงาน? คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่คือ “ยังไม่เจอคนที่ใช่”
น่าสนใจว่า เมื่อถามลึกลงไปว่าคนที่ใช่มีหน้าตาลักษณะเป็นอย่างไร?
คำตอบที่เซอร์ไพรส์ คือ ทุกคนจะบอกเหมือนกันหมดว่าอยากแต่งงานกับคนที่มีอายุมากกว่า ไม่ว่าคนที่ให้สัมภาษณ์จะมีอายุกี่ปีก็ตาม
สะท้อนว่าผู้ชายที่อายุมากอาจมีความพร้อมมากกว่า ทั้งด้านอายุ ระดับการศึกษา และฐานะทางเศรษฐกิจ
นอกจากเรื่องที่เขาไม่เจอคนที่ใช่แล้ว จากการสำรวจพบว่า “การตัดสินใจ” ของคนกลุ่มเหล่านี้ ว่าจะอยู่เป็นโสดหรือไม่ มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ โดยจะชั่งน้ำหนักแล้วว่าข้อดี-ข้อเสียของการแต่งงานคืออะไร
ต่างจากสมัยก่อนที่เกือบทุกคน “ต้อง” แต่งงาน แต่ปัจจุบันการอยู่เป็นโสดคือ “ทางเลือกของเขา” ไม่ใช่โชคชะตาของเขาที่ไม่ถูกเลือก เพราะผลวิจัยระบุชัดว่า “เขาเลือกเองว่าจะอยู่เป็นโสด”
สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับสังคมว่าจะมีอคติต่อผู้ที่ไม่แต่งงานหรือไม่ ทั้งที่สาเหตุหลักอีกส่วนหนึ่งของผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน คือการต้องอยู่ดูแลพ่อแม่วัยชรา
และสังคมไทยเราก็ให้คุณค่าในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ
มื่อเจาะลึกไปถึงทัศนคติของกลุ่มคนโสด จากการสำรวจลึกๆ พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้จะคิดว่าการแต่งงานต้องไม่ทำให้พวกเขาตกอยู่ในความยากลำบากมากกว่าเดิม
เช่นตอนนี้ มีความสะดวกสบายอยู่ระดับหนึ่ง เขามีความพึงพอใจและความสุขในชีวิตแล้ว หากจะมีการแต่งงาน ต้องทำให้เขาเกิด “ความมั่นใจ” ได้ว่า เขาจะ “ไม่มีความสุขที่ลดลง”
ที่สำคัญยุคนี้สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ผู้ชายกับผู้หญิงเท่าเทียมกัน ทั้งในระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น พวกเขาย่อมไม่รู้สึกกดดันว่าจะต้องมีใคร
แต่หากมีความกดดัน ก็มักไม่ได้เกิดจากภายใน แต่เกิดจากคนรอบข้าง เช่น สมาชิกครอบครัวที่เป็นอีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง เพราะคนรุ่นนั้นเกือบทั้งหมดต้องแต่งงาน เนื่องจากเมื่อก่อน การแต่งงานคือการฝากชีวิตผู้หญิงไว้ให้ผู้ชายดูแล
การเตรียมตัวของคนที่ตั้งใจจะใช้ชีวิตโสดเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ จากการสอบถามข้อมูลพบว่ากลุ่มคนโสดมีมุมมองว่าพวกตนต้องเตรียมการเรื่องต่างๆ ในชีวิตค่อนข้างเยอะกว่าคู่แต่งงาน
เพราะถ้าแต่งงาน ก็อาจจะมีลูกคอยดูแล มีสิทธิประโยชน์คู่สมรส มีการแชร์ส่วนแบ่งต่างๆ อะไรมากมาย แต่กรณีอยู่ตัวคนเดียว แน่นอนว่าจะไม่มีลูก เพราะฉะนั้น ต่อไป รัฐเองก็อาจต้องเข้ามามีส่วนช่วยในการเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุ
ที่ผ่านมารัฐบาลก็ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้อยู่มาก ดังปรากฏอยู่ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่สอง ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ต้องเตรียมคนกลุ่มอายุ 15-59 ปี ให้มีความพร้อมในการจะเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ
ฉะนั้น กลุ่มคนโสดที่ตัดสินใจแล้วว่าจะขออยู่เป็นโสดตลอดไป เขาต้องเตรียมการหลายประเด็น มีทั้งเรื่องเงินสะสม เงินออม เรื่องสุขภาพ เรื่องความเป็นอยู่ในภายภาคหน้า ว่าจะอยู่อย่างไร
เช่น จะกลับไปอยู่กับครอบครัวของพี่น้องที่แต่งงานแล้วหรือไม่ แล้วจะไปอยู่ได้ไหม หรือจะอยู่กับเพื่อนหรือจะอยู่เองคนเดียว หากอยู่คนเดียว ใครจะดูแล จะต้องจ้างคนมาดูแลหรือไม่ หรือจะเช็กอินตัวเองไปเนิร์สซิ่งโฮมหรือเปล่า ข้อนี้ก็สำคัญ
เรื่องสำคัญอีกอย่างคือเรื่องของจิตใจ เพราะแน่นอนว่าเมื่ออยู่เป็นโสด ตอนวัยทำงาน คุณยังพอมีสังคม มีเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนกลุ่มอื่นๆ
แต่หากแก่ตัวไป จิตใจจะเป็นอย่างไร จะเข้าวัดเข้าวามากขึ้นหรือจะศึกษาธรรมะ หรือเตรียมกลุ่มเพื่อนไว้ว่าพอแก่ตัวไป จะอยู่ด้วยกันอย่างไร เรื่องเหล่านี้ต้องมีการวางแผน
พบว่าในคนโสด อายุ 30-59 ปี มีผู้ที่คิดและเตรียมการเรื่องชีวิตไว้แล้ว 30-50%
เมื่อเจาะไปว่าพวกเขาเตรียมการเรื่องอะไรมากที่สุด แน่นอน มีถึง 58% ที่เตรียมการเรื่องของเงินไว้แล้ว แต่ในทางกลับกัน ก็หมายความว่ามีอีกเกือบครึ่งที่ไม่ได้เตรียมพร้อมเรื่องนี้ ซึ่งนับว่าน่าเป็นห่วง
รองลงมาที่เตรียมตัวกันมากคือเรื่องสุขภาพ มีการออกกำลังกาย มีการปรับเปลี่ยนลักษณะการกินอาหาร เป็นต้น
ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น จะใช้ชีวิตอย่างไร ใครจะดูแลเรา หรือกระทั่งการเตรียมสภาพจิตใจ บางคนก็คิดแล้วว่าแก่ตัวไปจะทำงานชุมชน ทำเพื่อสาธารณประโยชน์มากขึ้น
อีกประเด็นสำคัญคือการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายผู้สูงอายุหรือข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเกิดแก่ไปไม่มีคนดูแล จะต้องมีใครพิทักษ์สิทธิของเรา คนโสดถึง 70% ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องพวกนี้ มีแค่ประมาณ 28% ที่ได้คิดและเตรียมการไว้แล้ว
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่แต่งงานในช่วงอายุเดียวกัน กลุ่มหลังจะเตรียมการในประเด็นนี้พร้อมกว่า
นอกจากนี้ โครงสร้างและค่านิยมของสังคมไทยก็เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเมื่อก่อน ที่พอคนแก่ตัวไป การเกื้อหนุนส่วนใหญ่จะตกเป็นภาระของครอบครัว ผู้สูงอายุจะอยู่กับลูก
แต่หากต่อไป จำนวนคนไม่มีครอบครัวไม่มีลูกเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจะต้องเข้ามามีบทบาทเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายเบี้ยยังชีพ ซึ่งแม้รัฐบาลจะสนับสนุนมาโดยตลอด แต่ถ้าประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ การดำเนินนโยบายดังกล่าวก็จะยากขึ้นตามไปด้วย
เพราะใน พ.ศ.2580 สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด แปลว่ากลุ่มแรงงานก็จะลดลงตามไปด้วย หรือหมายความว่าคนที่จะมาทำหน้าที่สนับสนุนผู้สูงอายุย่อมมีจำนวนน้อยลง และจะส่งผลกระทบต่อปัญหาทางการคลังขึ้นมาทันที
รัฐจึงจะไม่สามารถให้สวัสดิการที่ดีพอสำหรับกลุ่มประชากรผู้สูงอายุได้ หากไม่มีการเตรียมแผนงานมารองรับ!
จะเห็นได้ว่าเรื่องของความโสดนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และจะมีผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างทางสังคมในภายภาคหน้า เมื่อสังคมไทยต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้นที่จะเกิดขึ้นอย่าง “รวดเร็ว” และ “รุนแรง”
โดยในมุมปัจเจกบุคคล คนที่คิดจะเป็นโสดควรต้องวางแผนให้ดีอย่างรอบด้าน ตั้งแต่วัยสามสิบปลายๆ เพื่อไม่ให้สายเกินไป
เพราะการจะหวังพึ่งพิงให้รัฐเข้ามาช่วยดูแล อาจเป็นสิ่งที่สุ่มเสี่ยงเกินไป เมื่อโครงสร้างประชากรและสังคมได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างชัดเจน และจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ที่มา https://pantip.com/topic/37414205